ทุกชีวิตบนโลกคือความมหัศจรรย์ในตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด สรรพชีวิตปรับตัวและมีหนทางของมันในทุกหนแห่ง ตั้งแต่บนอากาศถึงใต้ห้วงมหาสมุทร เรียกได้ว่าบนดาวเคราะห์ดวงนี้แทบไม่มีพื้นที่ใดที่ไม่มีสิ่งมีชีวิต เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวแห้งแล้งมากจนไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้ บางพื้นที่ของทะเลทรายไม่มีฝนตกมานานถึงสิบปี ทั้งผืนดินก็ยังมีความเป็นกรดสูง
และเพราะชีวิตอัศจรรย์ใจแบบนี้ นักวิทยาศาสตร์มากมายจึงพยายามปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ให้ได้มากที่สุด หากย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายปีก่อน ประเด็นการอนุรักษ์และพิทักษ์สัตว์ป่ามีเพียงนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ให้ความสำคัญ แต่ปัจจุบันจากการเข้าถึงสื่อ และความพยายามของหลายองค์กรได้ช่วยกันสร้างความตระหนักถึงชีวิตอื่นๆ ร่วมโลกในประชาชนทั่วไปมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอันยาวนาน ที่เรากำหนดขอบเขตการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นกพิราบพาสเซนเจอร์ (Passenger Pigeon)
เมื่อประมาณ 500 ปีก่อน ท้องฟ้าของอเมริกาเหนือเต็มไปด้วยนกพิราบพาสเซนเจอร์หลายล้านตัว แต่แล้วจำนวนของพวกมันก็เริ่มลดลง พร้อมกับการมาถึงของชาวตะวันตก นกชนิดนี้ชอบจับกลุ่มอยู่เป็นฝูง ยิ่งทำให้การล่าแต่ละครั้งได้นกปริมาณมาก นอกจากนั้นการขยายพื้นที่การเกษตรและฟาร์มปศุสัตว์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นกพิราบพาสเซนเจอร์ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดเมื่อปี 1914 นกพิราบพาสเซนเจอร์ตัวสุดท้ายเพศเมียที่ชื่อ มาร์ธา ซึ่งถูกเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ซินซินนาติได้ตายลง เป็นอันปิดฉากชีวิตของสัตว์สายพันธุ์นี้ตลอดกาล
แรดดำตะวันตก (Western black rhinoceros)
สายพันธุ์ย่อยของแรดดำนี้ถูกล่าอย่างหนักในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พวกมันมีถิ่นอาศัยกระจัดกระจายในทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกาตะวันตก ย้อนกลับไปเมื่อปี 1980 ประชากรแรดดำตะวันตกในขณะนั้นเหลือเพียงแค่หลักร้อยเท่านั้น และอีก 20 ปีต่อมาจำนวนก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 10 ตัว และเหลือเพียง 5 ตัวในปีต่อมา จนกระทั่งในปี 2006 ทางเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจตามหาประชากรแรดดำตะวันตก แต่กลับไม่พบ ในที่สุด IUCN จึงออกมาประกาศการสูญพันธุ์ของมันอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2011 และปัจจุบันชะตากรรมของแรดขาวเหนือกำลังจะตามรอยพวกมันไป ทุกวันนี้เหลือแรดขาวเหนือเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น โดยเป็นตัวเมียทั้งคู่
ควากกา (Quagga)
ควากกาช่างดูเหมือนสัตว์ครึ่งม้าลายครึ่งม้า เพราะมันมีลวดลายถึงแค่บริเวณต้นคอ ควากกามีถิ่นอาศัยในแอฟริกาใต้ ในศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวเนเธอร์แลนด์เข้ามาล่าอาณานิคมในแอฟริกาใต้ ควากกาถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาเนื้อและหนัง มีบันทึกไว้ว่าควากกาตัวสุดท้ายในธรรมชาติ ถูกยิงตายในปี 1878 ส่วนควากกาเลี้ยงตัวสุดท้ายที่เป็นเพศเมียตายลงที่สวนสัตว์อัมสเตอร์ดัม เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ปี 1883 ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์มีความพยายามที่จะคืนชีพควากกาให้กลับมาอีกครั้ง หลังพบดีเอ็นเอของมันหลงเหลืออยู่ในตัวในม้าลายธรรมดา
นกโดโด (Dodo)
ชาวตะวันตกมีคำว่า “Dead as dodo” ใช้เน้นว่าตายเรียบไม่มีเหลือ ชะตากรรมของเจ้านกอ้วนป้อมที่บินไม่ได้เหล่านี้คือความผิดของมนุษย์ล้วนๆ เดิมทีพวกมันอาศัยอยู่อย่างสงบสุขบนเกาะมอริเชียสมานานหลายพันปีเพราะไม่มีผู้ล่าใดมาคุกคาม จนเมื่อคณะเดินทางจากโปรตุเกสไปพบเข้าและเริ่มล่านกโดโดเป็นอาหาร บันทึกชาวเรือแรกสุดเกี่ยวกับนกโดโดเกิดขึ้นในปี 1598 และต่อมาเมื่อมีเรือเดินสมุทรเดินทางจากโปรตุเกส, ดัทช์ และบริติชเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สุนัข แมว และสัตว์อื่นๆ ที่เดินทางมากับเรือก็ล่านกโดโดเป็นอาหารร่วมกับมนุษย์ ทั้งยังแพร่พันธุ์ทำลายแหล่งวางไข่ของนกเจ้าถิ่นอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดนกโดโดก็สูญพันธุ์ไปจากโลก
นกอ๊อคใหญ่ (Great Auk)
เจ้านกทะเลชนิดนี้ดูคล้ายคลึงกับเพนกวิน แต่อันที่จริงพวกมันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด จะเหมือนกันก็ตรงที่บินไม่ได้ ในอดีตสามารถพบนกอ๊อคใหญ่ได้ทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่ยุโรปตอนเหนือไปจนถึงไอซ์แลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา และด้วยความที่มันบินไม่ได้นี่เอง นกอ๊อคใหญ่จึงถูกล่าเป็นอาหาร และล่าเอาขนมากมายจนสูญพันธุ์ ความตายของนกอ๊อคใหญ่คู่สุดท้ายบนโลกเกิดขึ้นเมื่อปี 1844 บนเกาะเบิร์ด นอกชายฝั่งไอซ์แลนด์ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พยายามสกัดเอาดีเอ็นเอจากนกอ๊อคสตัฟฟ์ในพิพิธภัณฑ์ ด้วยความหวังว่าจะสามารถสร้างตัวอ่อนของนกอ๊อคใหญ่ได้อีกครั้ง
เสือโคร่งชวา (Javan Tiger)
เสือโคร่งชวาคือสายพันธุ์ย่อยของเสือโคร่งที่มีถิ่นอาศัยในอินโดนีเซียเท่านั้น พวกมันเป็นเสือขนาดเล็ก ด้านนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าต้นกำเนิดของเสือโคร่งในอินโดนีเซียนั้นอพยพมาจากจีนเมื่อราว 50,000 ปีก่อน ในสมัยยุคน้ำแข็ง ที่ระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าปัจจุบันจนทำให้อินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ เสือโคร่งชวาถูกคุกคามอย่างหนักจากการล่าของมนุษย์ และการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่อาศัย จนกระทั่งในปี 1970 เหลือเสือโคร่งชวาในธรรมชาติเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อุทยานแห่งชาติเมรูเบติลี ในจังหวัดชวาตะวันตก แต่หลังจากนั้นนักสำรวจพยายามออกตามหาร่องรอยของเสือโคร่งชวา เมื่อไม่พบพวกมันจึงถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ในทศวรรษ 1900 ในขณะที่ทุกวันนี้ยังคงมีชาวบ้านอ้างว่าพบเห็นเสือโคร่งชวาในป่าอยู่บ่อยครั้ง
วัวทะเลสเตลเลอร์ (Steller’s sea cow)
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในอันดับพะยูน เมื่อโตเต็มที่มันจะมีความยาว 9 เมตร และหนักถึง 3 ตัน เรียกได้ว่ามีขนาดพอๆ กับวาฬเพชฌฆาต ชื่อของมันถูกตั้งตาม Georg Wilhelm Steller นักธรรมชาติวิทยาที่ค้นพบพวกมัน หลังติดเกาะเบริง เพราะเรือสำรวจอัปปางในปี 1741 ตัวเขาบันทึกลักษณะและพฤติกรรมของมันเอาไว้ เมื่อเดินทางกลับเยอรมนี เรื่องราวของมันก็ถูกเผยแพร่ไปทั่ว ด้วยนิสัยที่ไม่ดุร้าย การเคลื่อนไหวอันเชื่องช้า และขนาดตัวมหึมาซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อกับไขมัน ส่งผลให้วัวทะเลสเตลเลอร์ถูกล่าเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดก็สูญพันธุ์ไปในปี 1768 หรือ 27 ปี หลังชาวยุโรปค้นพบ ซึ่งเป็นระยะเวลาสั้นมาก
มนุษย์กำลังเร่งการสูญพันธุ์
ในช่วง 500 ล้านปีที่ผ่านมา มีการสูญพันธุ์ครั้งย่อย และครั้งใหญ่เกิดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง สาเหตุของโศกนาฏกรรมดังกล่าวมีความหลากหลายตั้งแต่การสิ้นสุดของยุคน้ำแข็ง, การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในมหาสมุทร, อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ไปจนถึงการพุ่งชนโดยอุกกาบาต ดังที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อ 65 ล้านปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่การสูญพันธุ์ของสรรพชีวิตจะเกิดขึ้นเพราะอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 หรือครั้งต่อไปกำลังจะเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ ไม่ใช่แค่การล่าสัตว์เท่านั้นที่เป็นสาเหตุ หากรวมไปถึงการทำลายถิ่นที่อยู่, การนำเอเลี่ยนสปีชีส์เข้าไปยังถิ่นใหม่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ทั้งหมดที่เรากำลังทำโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจนี้ส่งผลให้พืชและสัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไปเร็วกว่าที่สายพันธุ์ใหม่ๆ จะวิวัฒนาการขึ้นมาได้ทัน สอดคล้องจากรายงานน่าตกใจจาก IUCN ที่เคยเผยเมื่อปี 2004 ว่าอัตราการสูญพันธุ์โดยมนุษย์กำลังพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว 100 – 1,000 เท่า เมื่อเทียบกับการสูญพันธุ์ในครั้งก่อนๆ
Comments